วันพุธที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

บทที่ 9 การศึกษาและกำหนดขอบเขต



บทที่ 9 การศึกษาและกำหนดขอบเขต


การศึกษาและกำหนดขอบเขต


การพัฒนาโครงงาน ควรศึกษาที่มาและความสำคัญของโครงงาน ว่าโครงงานนั้นแก้ปัญหาอะไร ได้ประโยชน์อย่างไร กับใครบ้าง หลังจากนั้นควรระบุวัตถุประสงค์ในการพัฒนาโครงงานให้ชัดเจน ว่าต้องการพัฒนาอะไร และควรที่จะต้องกำหนดแนวทางและขอบเขตของโครงงานว่าจะแก้ปัญหาในส่วนใดบ้าง ใช้ความรู้และทรัพยากรใดบ้าง แล้วจึงประเมินระยะเวลาและงบประมาณเท่าไร โดยมีขั้นตอนต่างๆ ดังนี้


 1. ศึกษาที่มาและความสำคัญของโครงงาน

การระบุที่มาและความสำคัญของโครงงาน ควรเริ่มต้นจากการอธิบายปัญหาที่เกิดขึ้น โดยระบุให้เห็นภาพว่า มีปัญหาเกิดขึ้นจริง และปัญหานั้นยังไม่ได้รับการแก้ไข หรือยังไม่ได้รับการแก้ไขที่ดีพอ ทั้งนี้การระบุแนวทางการแก้ปัญหาที่เหมาะสมนั้น ควรมีการอ้างอิงจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ

หลังจากที่ได้ระบุที่มาและความสำคัญของปัญหาแล้ว ควรนำผลการศึกษาและวิเคราะห์การแก้ปัญหาด้วยวิธีอื่น ๆ ที่มีอยู่ว่ามีข้อดีและข้อเสียอย่างไร มาอธิบายโดยเน้นที่ข้อจำกัดของวิธีแก้ปัญหาเดิม เพื่ออ้างอิงเป็นเหตุผลในการพัฒนาโครงงาน

จากนั้นกล่าวภาพรวม โดยระบุว่า โครงงานดังกล่าวต้องการพัฒนาขึ้นเพื่อแก้ปัญหาใด ด้วยวิธีใด และบรรยายวิธีแก้ปัญหาที่เลือกใช้ ซึ่งต้องมีการอ้างอิงทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เห็นว่าโครงงานนี้จะสำเร็จออกมาในรูปแบบใด

นอกจากนี้ ควรระบุผลกระทบที่เกิดขึ้น หลังจากที่พัฒนาโครงงานสำเร็จแล้ว ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบต่อตนเอง สังคม หรือจะเป็นคุณค่าในเชิงวิชาการอย่างไร

2. การระบุวัตถุประสงค์ของโครงงาน

วัตถุประสงค์ของโครงงานคือการระบุว่าโครงงานนี้ จะทำอะไร ผลลัพธ์ที่ได้คืออะไร การเขียนวัตถุประสงค์ต้องคำนึงว่า วัตถุประสงค์ต้องวัดผลได้ ไม่ว่าจะเป็นการวัดผลด้านประสิทธิภาพ สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงคือ การใช้คำคุณศัพท์ที่ไม่สามารถวัดค่าเป็นตัวเลขได้ ตัวอย่างการเขียนวัตถุประสงค์ที่ไม่ดี เช่น เว็บไซต์สามารถแสดงผลได้อย่างรวดเร็ว ถ้าจะเขียนวัตถุประสงค์ให้สามารถวัดค่าเป็นตัวเลขได้ ควรจะเขียนว่า เว็บไซต์สามารถแสดงผลได้ภายใน 3 วินาที

3. การระบุแนวทางและขอบเขตของโครงงาน

การเขียนแนวทางและขอบเขตของโครงงาน ควรเริ่มจากการอธิบายภาพรวม อาจใช้สตอรี่บอร์ด (Storyboard) ภาพ แผนผัง แบบจำลอง หรือโปรแกรมอื่นๆ มาช่วยอธิบายให้เห็นขั้นตอนการทำงานทั้งระบบของโครงงานที่จะพัฒนา

การระบุแนวทางและขอบเขตของโครงงาน จะช่วยให้ทราบว่าการพัฒนาโครงงานนี้ต้องศึกษาความรู้หรือเทคนิคใด รวมทั้งต้องจัดหาทรัพยากรใดเพิ่มเติมบ้าง เพื่อให้การพัฒนาโครงงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

4. ประเมินทรัพยากรที่ใช้ในโครงงาน

การประเมินทรัพยากรที่ใช้ในโครงงาน จะทำการประเมินทั้งงบประมาณและระยะเวลาของโครงงาน ซึ่งการประเมินงบประมาณทำได้จากการประเมินการจัดหาทรัพยากรต่างๆ ทั้งในด้านซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ และบุคลากร รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการจัดจ้างทำส่วนประกอบหรือจัดเก็บข้อมูล

ส่วนการประเมินระยะเวลา ทำได้โดยแบ่งโครงงานเป็นกิจกรรมย่อย ประเมินเวลาที่ต้องใช้ในแต่ละกิจกรรม แล้วจึงทำการวางแผนผังในการดำเนินกิจกรรม เพื่อประเมินระยะเวลาในภาพรวม






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น